Blog Archive

ขับเคลื่อนโดย Blogger.
จากเมืองลังกาสุกะมาเป็นเมืองปัตตานี

ขอบอกว่าเนื้อหาต่อไปนี้จะยาวมากนะครับ เพราะผมไม่อยากทิ้งขู้มุลใหนเลยแต่อ่านไม่ใหวก็ข้ามๆไปบ้างแล้วกันครับ

จดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์เหลียง ชื่อเหลียงชู ได้บันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจของเมืองนี้ไว้ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ความว่า "รัฐลัง-ยา-สิ่ว ตั้งขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๗ อยู่ในบริเวณทะเลใต้ ห่างจากเมืองท่ากวางตุ้ง ๒๔,๐๐๐ ลี้ อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศผัน-ผัน หรือ พาน-พาน ประเทศนี้มีความกว้างยาว วัดด้วยการเดินเท้าจากทิศใต้ไปจรดทิศเหนือ ใช้เวลาเดินทางกว่า ๒๐ วัน และหากเดิน จากทิศ ตะวันออก ไปถึงตะวันตกก็จะใช้เวลา ๓๐ วัน

ตัวเมืองลังกาสุกะ มีกำแพงล้อมรอบ มีประตู และหอคอยคู่ พระราชา มีพระนามว่า ภคทัต (ยอเจียต้าตัว) เวลาจะเสด็จไปที่แห่งใด จะทรงช้างเป็นพาหนะ มีฉัตรสีขาวกั้น มีขบวนแห่ประกอบด้วยกลอง และทิวนำหน้า แวดล้อมด้วยทหารที่มีหน้าตาดุร้าย คอยระแวดระวังพระองค์

ชาวเมืองนิยมไว้ผมยาว ผู้หญิงแต่งกายด้วยผ้าฝ้าย (Ki-Pei) มีเครื่องเพชรพลอยประดับตบแต่งกาย ผู้ชายมีผ้าพาดไหล่ทั้งสอง มีเชือกทอง คาดต่างเข็มขัด และสวมตุ้มหูทองรูปวงกลม

เมื่อปีที่สิบแห่งศักราชเถียนเจียน (ตรงกับปี พ.ศ.๑๐๕๘) กษัตริย์เมืองลังกาสุกะส่งราชฑูตชื่อ อชิตะ (อาเช่อตัว) ไปเฝ้าจักรพรรดิ์จีน ทางจีน ให้ช่างเขียน เขียนภาพราชฑูตไว้เป็นที่ระลึก คุณสังข์ พัธโนทัย ได้ให้คำบรรยายภาพว่า

" เป็นคนหัวหยิกหยองน่ากลัว นุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มสไบเฉียง สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง ผิวค่อนข้างดำ"( เมืองโบราณ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๕๒๑ - มกราคม ๒๕๒๒)ข้อความนี้ไปพ้องกับคำพังเพยของชาวปักษ์ใต้บทหนึ่งที่กล่าวว่า "ผมหยิก หน้าก้อ คอปล้อง น่องทู่" ซึ่งถือกันว่าเป็นลักษณะของผู้ชายที่ไม่น่าไว้วางใจนักสำหรับท่านหญิง รูปลักษณะของฑูตลังกาสุกะนี้ เราจะพบเห็น ได้จาก ชาวชนบท ในภูมิภาคทักษิณของประเทศไทยได้ทั่วๆ ไป

หนังสือ เป่ยซู และสุยซู ของจีน ชี้ที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะไว้ในแวดวงที่กว้างขวางพอสมควร เช่นเดียวกับหนังสือ The Golden Khersonese ของศาสตราจารย์ปอล วิตลีย์ และหนังสือ Negara Kertagama ของพระปัญจ นักบวชในนิกายศิวะพุทธ แห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต ว่าอยู่ในแคว้นปัตตานี ในอดีต (ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ของรัฐตรังกานู และรัฐกลันตัน)

หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต (ฟอนฟลีต) ชาวฮอลันดา ซึ่งเคยมาตรวจกิจการค้าของบริษัทดัชอิสต์อินเดีย ที่ตั้งอยู่ในเมือง ปัตตานี และได้เข้าเฝ้าเจรจาปัญหาบ้านเมืองกับเจ้าหญิงอูงูรานีแห่งเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๑๘๕ ระบุที่ตั้ง เมืองลังกาสุกะ ว่าอยู่ห่างจากเมืองปัตตานีสมัยนั้น (บ้านกรือเซะ อำเภอเมืองปัตตานี) ไปทางตอนเหนือของลำน้ำปัตตานี คือบริเวณ เมืองโบราณ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

ม้าฮวน ชาวจีนผู้มีประสบการณ์จาการเดินทางไปกับกองเรือรบของ นายพลเซ็งโห ผู้รับสนอง พระบรมราช โองการ จากพระเจ้า จักรพรรดิ์ ราชวงศ์หงวน ให้นำคณะฑูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร กองเรือของนายพลเซ็งโห ออกเดินทางจากจีน ตระเวนไปตามเมืองต่างๆ จนถึงอ่าวเปอร์เซีย และชายฝั่งอาฟริกาตะวันออก ผ่านอ่าวไทยถึง ๗ ครั้ง เคยแวะเยี่ยม ราชอาณาจักร สยาม ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ.๑๙๕๐ เพื่อทำการไกล่เกลี่ยกรณีที่ปรเมศวร เจ้าเมืองมะละกา ร้องเรียนต่อพระเจ้าจักรพรรดิ์จีน กล่าวหาว่า ไทยยกกองทัพไปรุกรานเมืองมะละกา เหตุเพราะมะละกาทำการแข็งเมือง ไม่ยอมสงเครื่องราชบรรณาการ ในบันทึก ของม้าฮวน ได้กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะว่า รัฐนี้ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตรงเส้นรุ้งที่ ๖ .๕๔"- เหนือ

หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ (ภาคผนวก) ก็ว่า จังหวัดปัตตานีตั้งอยู่ตรงเส้นละติจูด ๐๖-๕๑'-๓๐" เหนือ เช่นเดียวกับที่ม้าฮวนได้บันทึกไว้

หวัง-ต้า-หยวน เขียนไว้ในหนังสือ เต๋า-อี-ชีห์-ยูเลห์ ว่า ชาวเมืองลังยาเสี่ยว "ทั้งชายหญิงไว้ผมมวย ใช้ผ้าฝ้ายนุ่งห่ม และรู้จักการ ต้มน้ำทะเล เพื่อให้ได้เกลือมาใช้"

การทำนาเกลือ เพื่อใช้บริโภค และจำหน่ายในจังหวัดภาคใต้ มีอยู่ที่เมืองปัตตานี ทำเป็นสินค้าจำหน่ายมาแต่ต้นสมัยอยุธยาแล้ว ประวัติเมือง ปัตตานี ได้กล่าวถึงการทำนาเกลือไว้ชัดเจนในสมัยนางพญาฮียาและนางพญาบีรูปกครองเมืองปัตตานี แต่ไม่ปรากฏว่า เมืองใกล้เคียง ทำนาเกลือเป็น ทั้งที่บ้านเมืองเหล่านั้นก็อยู่ใกล้ทะเล มีสภาพที่ดินคล้ายคลึงกัน พอที่จะใช้ในการทำนาเกลือได้ ดังปรากฏ หลักฐาน ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอู่ทองตรัสถามพญาศรีธรรมโศกราชว่า "เมืองของท่านขัดสิ่งใดเล่า แลพญาศรีธรรมโศกราชว่า ขัดแต่เกลือ อาณาประชาราษฎร์ไม่รู้จักทำกิน และพระเจ้าอู่ทองว่า จงให้สำเภาเข้ามาจะจัดให้ออกไป"

การที่พงศาวดารจีนบันทึกไว้ว่า ชาวเมืองหลังยะเสี่ยว (หรือลังกาสุกะ) รู้จักการทำนาเกลือใช้ และไม่มีหัวเมืองใด ในภาคใต้ รู้จักการทำนาเกลือ นอกจากชาวเมืองปัตตานีเท่านั้น ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เมืองปัตตานีน่าจะเป็นที่ตั้งเมืองลังกาสุกะได้

ปัจจุบัน การทำนาเกลือ ของชาวเมืองปัตตานี ก็ยังคงได้รับการสืบทอด เป็นอาชีพของชาวบ้านตำบลตันหยงลุโละ ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานี

เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ หรือเมืองนครศรีธรรมราช เป็นบ้านเมืองในยุคเดียวกัน เมืองทั้งสองเคยมีความเจริญรุ่งเรือง และประสบ ภัยพิบัติ จากสงคราม จนต้องตกเป็นเมืองขึ้น ของอาณาจักรศรีวิชัย และของพระเจ้าราเชนทร์ แห่งโจฬะประเทศมาแล้วด้วยกัน เมืองทั้งสอง จึงมีวัฒนธรรม ร่วมกัน หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในด้านศาสนา ความเชื่อ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่ จะรับ ลัทธิ ลังกาวงศ์ เมืองนครศรีธรรมราชมีพระเจดีย์ที่มีรูปลักษณะและนามใช้เรียกขานเช่นเดียวกัน ดังปรากฏ หลักฐาน อยู่ในตำนาน พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ดำริในพระทัยว่า ตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหาร และก่อพระพุทธรูป ปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ์ และได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัต และทำประตู ๒ ประตู จ้างคนทำวันละพันตำลึงทอง และพระบรรทม องค์หนึ่ง ทำด้วยสัมฤทธิ์ยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้น ๑ หน้าเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสัมฤทธิ์ สูงองค์ละ ๑๕ วา ตะกั่วดาด ท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงษ์ทอง ๔ ตัว ย่อมทองเนื้อ แล้วมาทำมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ และจำเริญ พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช"

คำ "พระมาลิกะเจดีย์" ของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของเมืองปัตตานีในอดีตคือ เมืองโกตามหลิฆัย (โกตา = เมือง หรือ ป้อมปราการ มลิฆัย (maligei) = เจดีย์หรือปราสาทราชวัง) เป็นคำยกย่อง สรรเสริญ บ้านเมือง สมัยนั้นว่า เจริญรุ่งเรือง ด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม ทางการสร้างสรรค์พระมหาเจดีย์ และปราสาทราชวัง ดุจดังที่ศรีปราชญ์ กล่าวไว้ในโคลง ที่ท่านเขียนขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติ กรุงศรีอยุธยาว่า

อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤา

อำนาจบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ

เจดีย์ละอออินทร์ ปราสาท

ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสม

คำ มลิกะ นั้น ทางปัตตานีเรียก Maligai (มะลิไฆ) เป็นภาษาทมิฬ เข้าใจว่าปัตตานีสมัยลังกาสุกะรับมาจากอินเดียใต้ สมัยที่ พระเจ้าราเชนทร์ เข้ามายึดครองเมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ทางเชิงช่างศิลปไทย เรียกเจดีย์มะลิกะ หรือเจดีย์มะลิไฆ ว่า ทรง ฉัตราวาลี พระเจดีย์แบบนี้ นอกจากจะมีการสร้างขึ้นที่เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) แล้ว ปรากฏว่ายังมีอยู่ที่เกาะสุมาตราตอนกลางที่มัวราตากุสอีกด้วย ซึ่งต่างก็รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการช่างของอินเดียใต้

พระมาลิกะเจดีย์ของเมืองนครศรีธรรมราช มีผู้สันนิษฐานว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช รับเอา พระพุทธศาสนา แบบลังกาวงศ์ ในราว พุทธศตวรรษ ที่ ๑๗-๑๘ ก็ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบคลุมมาลิกะเจดีย์องค์เดิมไว้ (สาสน์สมเด็จ ฉบับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘)

ที่เมืองลังกาสุกะ (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) ปัจจุบันยังคงร่องรอยรากฐานเจดีย์น้อยใหญ่หลายองค์ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด และพบเจดีย์ดินเผาจำลอง (แบบมาลิกะเจดีย์) ในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้อีกเป็นจำนวนมาก

จากการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ บ้านโคกอิฐ ตำบลพะร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บริเวณ สนามบิน และวัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา บ้านป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ระบุว่า เคยเป็นที่ตั้ง เมืองปัตตานี มาครั้งหนึ่ง แหล่งชุมชนดังกล่าวปรากฏว่า มีซากโบราณวัตถุสถานน้อยกว่าบริเวณชุมชนในท้องที่อำเภอยะรัง โดยเฉพาะ ในเขต ท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี และใกล้เคียงในพื้นที่ ๕ ตารางกิโลเมตร มีโบราณวัตถุ สถาน อันมี คุณค่า ทาง ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่พบแล้ว ดังนี้

โบราณสถาน ได้แก่ ฐานเจดีย์และเนินดิน ประกอบด้วยอิฐที่มีลักษณะแบบอิฐสมัยทวารวดี ศรีวิชัย สลักหักพัง กระจายอยู่ ในท้องที่ บ้านประแว บ้านใหม่ บ้านวัด บ้านปิตุมุดี มากกว่า ๓๐ เนิน เฉพาะบริเวณเนินดินขนาดใหญ่ที่บ้านวัด พบธรณีประตู ธรณีหน้าต่าง ทำด้วยศิลาสีขาว ๑๐ กว่าชิ้น สันนิษฐานว่า เนินดินแห่งนี้คงเป็นที่ตั้งโบราณสถานที่สำคัญของเมือง และเนินดิน ที่ตั้งอยู่ ด้านตรงกันข้าม พระภิกษุวัดสุขาวดีเคยทำการขุดมาแล้ว ปรากฏว่าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ พบผนังอิฐ ก่อลึกลงไป ใต้พื้นดิน ประมาณ ๒ เมตร ปัจจุบันเจ้าของที่ดินได้กลบหลุมที่ขุดทิ้งไว้ ปลูกต้นเงาะขึ้นปกคลุมหมดแล้ว คงเห็นแต่ ฐานเจดีย์ ปรากฏอยู่ ฐานพระเจดีย์องค์นี้ หากได้มีการขุดแต่งดินใหม่แล้ว คงจะได้ทราบ รูปแบบ องค์พระเจดีย์ ว่าอยู่ใน ลักษณะ รูปแบบ เจดีย์โบราณ สมัยใด อันจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาตีความด้านอายุของเมืองโบราณแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง

โบราณวัตถุ พบพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีประทับยืน ปางประทานพร ๑ องค์ และปางอาหูยมุทรา (ปางกวักพระหัตถ์) อีก ๑ องค์ สูงขนาด ๖๐ เซนติเมตร ชาวบ้านพบที่บริเวณทุ่งนาบ้านกำปงบารู ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดป่าศรี อำเภอยะหริ่ง และ วัดตานีนรสโมสร วัดละ ๑ องค์

พระพุทธรูปนูนต่ำ แกะในแผ่นศิลาแดงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๖ นิ้ว เป็นรูปพระโพธิสัตว์ อมิตาภะ พุทธเจ้า พบอยู่ในซาก องค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง

ธรรมจักรศิลา สูง ๑๓ เซนติเมตร วงล้อกว้าง ๒๖ เซนติเมตร มีกงล้อ ๘ อัน ไม่มีลวดลายแกะสลักประดับตกแต่งวงล้อ ปัจจุบัน เก็บรักษาอยู่ที่วัดตานีนรสโมสร อำเภอเมืองปัตตานี

กุฑุ หรือ ซุ้มเรือนแก้ว ทำด้วยปูนปั้นผสมกรวดทราย มีลวดลายดอกไม้แบบศิลปอมรวดี คล้ายรูปจำหลักศิลาที่นาคารซุนกอนดา ประเทศอินเดีย และชิ้นส่วนปูนปั้นซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม แต่ละชิ้นมีความกว้าง-ยาว ขนาดแผ่นอิฐ มีลวดลาย บัวคว่ำ และลายหน้ากระดาน ศิลปะสมัยคุปตะเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่า เป็นส่วนประกอบ ของสถูป ที่ถูกทำลาย หรือปรักหักพังลง เพราะความเสื่อมสภาพของวัตถุ ที่ถูกฝนและอากาศชื้นกัดกร่อนมานานปี ชิ้นส่วนปูนปั้นเหล่านี้ พบในสวน ทุเรียนใกล้บ้านปอชัน ตำบลปิตุมุดี ปัจจุบันมอบให้ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสงขลาเก็บรักษาไว้

สถูปดินเผาจำลอง พบเป็นจำนวนมากอยู่ในซากองค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง มีหลายขนาดหลายรูปแบบ อาทิ ทรงฉัตรวาลี ที่ปัตตานีและชวาเรียกแบบอย่างชาวทมิฬว่า จันฑิมะลิฆัย หรือมะลิกะเจดีย์ ตามตำนาน พระธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช และทรงกมลมีลวดลายหน้ากระดานโดยรอบองค์สถูป น. ณ ปากน้ำ นักประวัติศาสตร์ ศิลปะ ของเมืองไทย กล่าวว่า "เป็นสถูปเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบมาในเอเซียอาคเนย์ เหมือนสถูปแบบคุปตะที่กุสินาราและที่สารนาถ" (วารสารเมืองโบราณ ธันวาคม ๒๕๒๑ เรื่อง ศิลปะแบบทวารวดีที่ปัตตานี)

ศิวลึงค์ รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ มีลักษณะใกล้เคียงองคชาติมาก ส่วนยอดเป็นรูปกลมเหมือนของจริง เรียกว่า "รุทธภาค" ท่อนกลางเป็นรูปเหลี่ยม ๘ เหลี่ยม เรียกว่า "วิษณุภาค" ฐานล่างทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า "พรหมภาค" สูง ๔๔ เซนติเมตร พบที่กูโบ หรือสุสานบ้านยะรัง ชาวบ้านนำไปใช้แทน "แนแซ" หรือ หินเครื่องหมายเหนือหลุมศพตามประเพณีของชาวมุสลิม องค์ที่ ๒ วิทยาลัยครูยะลาเป็นผู้นำไปเก็บรักษาไว้ องค์ที่ ๓ มีขนาดย่อมกว่า พบที่บ้านป่าศรี พระภิกษุวัดป่าศรี มอบให้เอกชน ไม่ทราบนาม และสถานที่อยู่ชัดเจน ทราบเพียงว่าเป็นชาวบ้านฝั่งธนบุรี

แม่พิมพ์ต่างหู ใช้สำหรับหลอมต่างหูด้วยโลหะ เช่น สำริด หรือตะกั่ว ทำด้วยศิลาสีดำ และศิลาสีแดง รวม ๒ พิมพ์ เป็นรูป สี่เหลี่ยม จัตุรัสขนาด ๑๒ x ๒ เซนติเมตร แม่พิมพ์สีแดงพบภายในกำแพงเมืองโบราณบ้านประแว ตำบลยะรัง ลักษณะ รูปแบบ ของแม่พิมพ์ คล้ายกับแม่พิมพ์ต่างหู ที่พบที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เมืองโบราณที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐม บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบัน มอบให้ศูนย์ศึกษา เกี่ยวกับ ภาคใต้ เก็บรักษาไว้

โยนีโธรณ ทำด้วยศิลา สัญญลักษณ์แทนองค์พระอุมา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๑ เมตรเศษ ที่กึ่งกลาง เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๖ x ๖ สำหรับวางองค์ศิวะลึงค์ และเซาะร่องรอยริมขอบแผ่นโยนีโธรณ พบในสวน ชาวบ้าน ตำบลวัด ขณะขุดหลุมปลูกแตงกวา ชาวบ้านเรียก "ตาเปาะฆาเยาะ" (รอยเท้าช้าง) ได้มอบให้ พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา นำไปเก็บรักษาไว้

แท่นหินบดยา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานสี่เหลี่ยมสูง ๑๓ เซนติเมตร กว้าง ๒๒ เซนติเมตร ยาว ๔๕ เซนติเมตร พบที่บ้านต้นทุเรียน ตำบลยะรัง ๒ แท่น และที่บ้านตามางัน ๑ แท่น ชาวบ้านเรียก "ลือชงยาวอ" (ครกชวา) ส่วนลูกกลิ้งหินบด พบเพียง ส่วนชำรุด รูปลักษณะ คล้ายหินบดที่พบตามเมืองโบราณในภาคกลางดังที่กล่าวมาแล้ว

พระสุริยเทพ ทำด้วยสำริดขนาด ๒๐.๓๐ x ๑๐.๓๐ เซนติเมตร ประทับยืนเหนือแท่นปทุมอาสน์ บนราชรถเทียมด้วยม้า ๗ ม้า มีพระอรุณเทพ ทำหน้าที่สารถี นั่งบังคับม้ามาด้านหน้า ด้านข้างประกอบเทพบริวาร ๔ องค์ คือ ทัณฑีเทพ ปิงคละเทพ และ เทพธิดา มีนามว่า ปรัตยุตาเทพีและอุษาเทพี นั่งมาในราชรถ พบที่บริเวณบ้านกูวิง ปัจจุบันตกไปเป็นสมบัติของเอกชน (พระสุริยะสำริด พบที่เมืองโบราณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยผาสุข อินทราวุธ วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาคปลายปีการศึกษา ๒๕๒๙)

นอกจากนี้ยังพบเทวรูปนารายณ์ และชิ้นส่วนของนางตารา ทำด้วยสำริดที่ใกล้บริเวณบ้านเกาะหวาย ตำบลวัด ชาวบ้านเรียก พื้นที่ พบโบราณวัตถุนี้ว่า "วะสมิง" (วัดสามี) ปัจจุบันพระภิกษุรูปหนึ่งนำไปหล่อพระพุทธรูปแล้ว

โบราณวัตถุสถาน และเรื่องราวในจดหมายเหตุของชนชาติต่างๆ ที่กล่าวแล้ว แสดงว่า บริเวณเมืองโบราณ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี อำเภอยะรัง ในอดีตน่าจะเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งเมืองลังกาสุกะ มิฉะนั้นคงจะไม่ปรากฏซากโบราณ และชิ้นส่วน โบราณวัตถุ ที่มีอายุไม่น้อยกว่าปีพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ขึ้นไป โดยเฉพาะซากโบราณสถานและโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธ สาสนาพราหมณ์นั้น เมื่อชาวเมืองเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพุทธ มารับศาสนาอิสลามในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ แล้วนั้น น่าจะถูกทำลาย หรือ นำไปจำหน่าย แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ จนหมดสิ้น เฉพาะโบราณวัตถุจำพวกสำริด ซึ่งเป็นของมีค่าและหายากในท้องถิ่น จึงคงมีเหลือ อยู่น้อยมาก

เมืองโบราณบนแหลมมลายู ที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกและจดหมายเหตุชาวจีน อินเดีย และชวา ได้แก่

จารึกเมืองตันโจ ของพระเจ้าราเชนทร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔ มีชื่อเมือง ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก ของแหลมมลายู ที่พระองค์ อ้างว่า ได้ส่งกองทัพเรือมายึดครองไว้ได้นานถึง ๒๐ ปี คือ เมืองไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) เมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช)

หนังสือ จู-ฝาน-ชี ของเจาจูกัว ก็ได้เขียนเล่าเรื่องมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัยไว้ว่า ในปี พ.ศ.๑๗๖๘ ศรีวิชัยมีเมืองขึ้น ๑๕ เมือง เฉพาะที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ได้แก่ ปอง-ฟอง (ปาหัง) เต็งยานอง (ตรังกานู) หลังยาสิเกีย (ลังกาสุกะ) กิลันตัน (กลันตัน) ตันมาหลิง (นครศรีธรรมราช)

หนังสือ เนเกอราเกอรตาคามา ของพระปัญจา นักบวชในลัทธิศิวพุทธแห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๘ ก็อ้างว่ากองทัพเรือของชวา สามารถเข้ายึดครองเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูไว้ได้ คือ ปาหัง ตรังกานู กลันตัน และลังกาสุกะ ในปี พ.ศ.๑๘๓๕

จากเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่มีชื่อเมืองปัตตานีอยู่เลย ตามประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี ฉบับของนายหะยีหวันอาซัน กล่าวว่า เมืองปัตตานี เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยของพยาอินทิรา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ มีนามว่า "ปัตตานีดารัสสลาม" (นครแห่งสันติ)

คำ ปัตตานี นี้ เลือนมาจากคำในภาษาสันสกฤต คือ "ปตฺตน" แปลว่า "กรุง, ธานี, นคร, เมือง" ดังจะเห็นได้จากชื่อเมืองหนึ่งของอินเดียภาคใต้ ถิ่นฐานของโจฬะ ที่เคยมายึดครองเมืองลังกาสุกะ คือ เมือง "นาคปตฺตน"

สาเหตุที่พญาอินทิรา ย้ายเมืองโกตามหลิฆัยหรือลังกาสุกะ มาสร้างเมืองปัตตานีขึ้นใหม่ ณ บริเวณสันทราย ตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบานา ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานีในปัจจุบัน จะนำมากล่าวในตอนหลัง

ดังนั้น ชื่อของเมืองลังกาสุกะ จึงไม่ปรากฏในเอกสารของชนชาติต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในแหลมมลายู หลังจากปี พ.ศ.๒๐๕๔ แต่ปรากฏ ชื่อเมืองปัตตานี หรือตานี ขึ้นมาแทนที่ ดังจะเห็นได้จากเอกสารของพวกพ่อค้าชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ แม่แต่เอกสาร ชาวจีน ระยะหลัง เช่น เรื่องอาณาจักรทางทะเลของปิงหนาน ก็ได้กล่าวถึงเมืองปัตตานีว่า

อาณาจักรต้าหนี "ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสงขลา การเดินทางจากสงขลาทางบกใช้เวลา ๕-๖ วัน ทางน้ำ โดยลมมรสุม ประมาณวันเศษก็ถึง ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาทอดเป็นแนวยาวติดต่อกัน อาณาเขตหลายร้อยลี้ จารีตประเพณี และทรัพยากร มีความคล้ายคลึง กับสงขลา ประชากรมีจำนวนน้อย แต่อุปนิสัยดุร้าย ภูเขาที่นี่มีทองคำมาก อาณาจักรนี้ขึ้นกับสยาม แต่ละปี ต้องถวาย เครื่องราชบรรณาการด้วยทองคำ ๓๐ ชั่ง"

เรื่องราวของราชฑูต กษัตริย์เมืองลังกาสุกะ ต่อจากรัชสมัยพระเจ้าภัคทัตต์ ปรากฏในจดหมายเหตุจีนต่อมาว่า ในปี พ.ศ.๑๐๖๖-๑๐๗๔ และ พ.ศ.๑๑๑๑ กษัตริย์ลังกาสุกะ ได้ส่งฑูตไปสู่ราชสำนักจีนอีก แต่จีนก็มิได้ให้รายละเอียดอย่างเช่นคราวราชฑูตอชิตะ

ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ รัฐลังกาสุกะก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง จนกระทั่ง ตกไปเป็นเมืองขึ้น ของกษัตริย์กรุงศรีวิชัย และกษัตริย์โจฬะ แห่งอินเดียใต้ ดังปรากฏหลักฐานจารึกที่เมืองตันจอร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๙๕ กล่าวว่า

"พระเจ้าราเชนทร์ส่งทัพเรือไปกลางทะเล และจับพระเจ้าสังกรมวิชยค์ตุงคะวรมันกษัตริย์ แห่งคะดะรัม (เกดาห์) และยึดได้ รัฐปันนาย ที่มีน้ำเต็มเปี่ยม ในอ่างเก็บน้ำ รัฐมลายูโบราณที่มีภูเขาเป็นป้อมปราการล้อมรอบ รัฐมะยิรูดิงคัม ซึ่งล้อมรอบ ไปด้วยทะเล จนดูประหนึ่ง เป็นคูเมือง รัฐไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) ซึ่งเก่งกล้าในการรบ เมืองบัปปะปะลัม (ปาเล็มบัง) ที่มีน้ำลึกเป็นแนวป้องกัน เมืองเมวิลิมบันกัม ที่มีกำแพงเมือง สง่างาม เมืองวาไลยคุรุที่มีวิไลยพันคุรุ เมืองดาไลยตักโคลัมที่ได้รับการสรรเสริญจากคนสำคัญๆ ว่าเชี่ยวชาญ ทางวิทยาการ รัฐตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) ที่ใหญ่ยิ่งสามารถในการรบ เมืองอิลามุรีเดแอมที่ดุเดือดในการรบ เมืองนักกะวารัม ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีสวนใหญ่โต มีน้ำผึ้งมาก"

หลังจากตีเมืองเหล่านี้ได้แล้ว พระเจ้าราเชนทร์โจฬะ ได้ส่งกองทหารเข้ามายึดครองหัวเมืองในแหลมไทย-มลายูไว้เป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อมารัฐศรีวิชัยผู้มีกำลังนาวิกภาพเข้มแข็งก็ได้มาผนวกเอารัฐลังกาสุกะเข้าไปไว้ในอำนาจของตน พร้อมด้วยรัฐต่างๆ อีก ๑๕ รัฐ ตามที่ชาวจีน ชื่อ เจาจูกัว เขียนเล่าไว้ในหนังสือชูผันจิ ดังต่อไปนี้ คือ

๑. รัฐ เป็ง-โพ็ง (ปอง-ฟอง หรือ ปาหัง?)

๒. รัฐ เต็ง-ยา-น็อง (ตรังกานู?)

๓. รัฐ ลิง-ยา-ลิงเกีย (ลังกาสุกะ)

๔. รัฐ กิ-ลัน-ตัน (กลันตัน)

๕. รัฐ โฟ-โล-ตัน

๖. รัฐ ยิ-โล-ติง

๗. รัฐ เซียม-มาย

๘. รัฐ ปะ-ตา

๙. รัฐ ตัม-มา-หลิง (นครศรีธรรมราช)

๑๐. รัฐ เกีย-โล-หิ (ครหิ-ไชยา)

๑๑. รัฐ ปา-ลิ-ฟอง (ปาเล็มปัง)

๑๒. รัฐ สิน-โค (สุนดาในเกาะชวา)

๑๓. รัฐ เกียน-ปาย

๑๔. รัฐ ลัน-วู-ลิ (ลามูริในเกาะสุมาตรา)

๑๕. รัฐ ซี-ลัน (ซีลอนหรือลังกา)

ต่อมาราชอาณาจักรศรีวิชัยได้แตกสลายตัวลง ดี.จี.อี.ฮอลล์ว่า เนื่องจากถูก "พวกไทย ทางแม่น้ำ เจ้าพระยา ฝ่ายเหนือ และอาณาจักร สิงหัดส่าหรี ในชะวาตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง" โจมตี ทำให้อิทธิพลของกษัตริย์ศรีวิชัยบนแหลมไทย-มลายูต้องเสื่อมอำนาจลง ประการสุดท้าย เกิดจากชาวจีน มีความรู้ ในเรื่องการเดินเรือ และการต่อเรือสำเภาที่มีคุณภาพดี สามารถออกทำการค้าขายกับเมืองต่างๆ ตามหมู่เกาะชวา และติดต่อขายกับพ่อค้าอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดียโดยตรง ไม่ต้องผ่านเมืองท่าที่อยู่ในอาณัติของศรีวิชัย ซึ่งเคยเป็น ศูนย์กลางค้า ระหว่าง โลกตะวันตก กับโลกตะวันออก อีกต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของศรีวิชัยต้องทะลายลง

อาณาจักรสิงหัดสาหรี ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกเจ้าชายจายากัตวัง แห่งแคว้นเคดิรี ลอบเข้ามา โจมตี นครหลวง ในขณะที่ พระเจ้า เกอรตานาการา กำลังประกอบพิธีบูชาศิวะพุทธเจ้า เจ้าชายวิชายา ราชบุตรเขย ซึ่งยอมจำนนต่อเจ้าชายจายากัตวัง และได้รับ การแต่งตั้ง ให้ไปปกครองดินแดนในแถบลุ่มน้ำ Brantas ได้รวบรวมกำลังขึ้นต่อสู้กู้เอกราชกลับคืนมาได้ และได้จัดตั้ง อาณาจักร มัชฌปาหิต ขึ้นในปี พุทธศักราช ๑๘๓๖

หนังสือเนเกอราเกอรตากามา แต่งโดยพระปัญจนักบวชในลัทธิศิวะพุทธ ได้กล่าวถึงอิทธิพลของกษัตริย์มัชฌปาหิตว่า ได้ส่ง กองทัพเรือ เข้ามา ยึดครอง ดินแดนตามหมู่เกาะ ตลอดขึ้นมาถึงปลายแหลมไทย-มลายู ยึดปาหัง เสียมวัง กลันตัน และตรังกานู ฯลฯ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า ลังกาสุกะ ไว้ได้

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้บันทึกสนับสนุนข้อความที่พระปัญจเขียนไว้ว่า "ครั้งนั้นเจ้าเมืองชาว ยกไพร่พลมาทางเรือ มารบ เอาเมือง ชวา จับตัวพระยา ได้พระอัครมเหสี ก็ตามพระยา (นครฯ) ไปถึงเกาะอันหนึ่ง ได้ชื่อว่า เกาะนาง โดยครั้งนั้น ชวา ก็ให้ เจ้าเมือง ผูกส่วย ไข่เป็ด แก่ชวา ชวาก็ให้พระยา (นครฯ) คืนมาเป็นเจ้าเมือง" ตามเดิม

ในระยะเดียวกันนี้ อาณาจักรสุโขทัยก็ได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบครองรัฐละโว้-อโยธยา สุพรรณภูมิ และนครศรีธรรมราช ไว้ และได้ผนวก กำลัง กันเข้าทำการขับไล่อิทธิพลของกษัตริย์มัชฌปาหิตออกไปจากแหลมไทยมลายู ดังปรากฏ หลักฐาน แสดงอาณาเขต ของ อาณาจักร สุโขทัยในครั้งนั้นไว้ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า "เบื้องหัวนอนรอด คนที แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว" หลักฐานจีนก็ว่า ปี ค.ศ.๑๒๙๕ (พ.ศ.๑๘๓๘) จีนส่งฑูตมาตักเตือนสุโขทัยไม่ให้รุกรานมาลิยูเออร์ (ความสัมพันธ์ระบบบรรณาการ ระหว่าง จีนกับไทย หน้า ๓๗ ของ ดร.สืบแสง พรหมบุญ มาลิยูเออร์ นี้ บางท่านว่า คือ เมืองแจมบี ในเกาะสุมาตรา)

รัฐลังกาสุกะ จึงเข้ามารวมอยู่ในพระราชอาณาจักรของชาวไทยเป็นครั้งแรก ภายใต้การควบคุมของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็น พระญาติ ของพระเจ้าขุนรามคำแหงตั้งแต่นั้นมา ดังที่โทเมบีเรส์ กล่าวว่า "ผู้เป็นใหญ่" (ในการบังคับบัญชาราชอาณาจักร) รองลงมา (จากพระเจ้าแผ่นดิน) คืออุปราชแห่งเมืองนคร เรียกกันว่า "Poyohya" (พ่ออยู่หัว) เขาเป็นผู้ว่าราชการจากปะหังถึงอยุธยา และหลักฐาน ทางจีน ก็กล่าวว่า ใน ค.ศ.๑๔๑๙ (พ.ศ.๑๙๖๒) "ขันทีหยางหมิน (Yangmin) เดินทางมาไทย พร้อมกับ อัญเชิญ คำตักเตือน ของ องค์จักรพรรดิ์ ต่อการรุกรานมะละกาของไทย"

กษัตริย์มะละกาขณะนั้น คือ เจ้าชายปรเมศวร หนังสือ Sumariental ของ Tome Pires กล่าวว่า เจ้าชาย ปรเมศวร มีเชื้อสาย มาจาก ราชวงศ์ ไศเลนทร์ แห่งเมืองปาเล็มบัง ไปได้เจ้าหญิงในราชวงศ์มัชฌปาหิตมาเป็นพระชายา ต่อมาเกิดขบถขึ้นในเมืองมัชฌปาหิต โดยเจ้าชาย วีรภูมิเป็นผู้นำ ในปี ค.ศ.๑๔๐๑ (พ.ศ.๑๙๔๔) จึงลี้ภัยการเมืองมาอาศัยเจ้าเมือง Tamasik (สิงคโปร์) ภายหลัง เจ้าชาย ปรเมศวร ได้ลอบฆ่า เจ้าเมือง Tammasik เจ้าเมืองปัตตานีซึ่งเป็นพระญาติกับเจ้าเมือง Tammasik ได้ขับไล่ปรเมศวรออกไปจากเมือง Tammasik ปรเมศวรจึงหนีมาตั้งเมืองมะละกาขึ้นในปี ค.ศ.๑๔๐๓ (พ.ศ.๑๙๔๖)

ต่อมา เจ้าชายปรเมศวรได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาเจ้าเมืองปาไซในเกาะสุมาตราที่นับถือศาสนาอิสลาม ปรเมศวร จึงเลื่อน จากการ นับถือ ศาสนาฮินดู (ศิวะพุทธ) มาเป็นศาสนาอิสลาม และได้เฉลิมพระนามตามหลักการของศาสนาอิสลามมีนามว่า เมกัตอิสกานเดอร์ชาฮ์

เจ้าชายปรเมศวรต้องเดินทางไปเฝ้าจักรพรรดิ์จีน เพื่อขอให้จีนช่วยเจรจาห้ามปรามกษัตริย์ไทย ทำการรุกราน มะละกา ซึ่งฝ่ายไทยถือว่า ดินแดนมะละกา อยู่ในความปกครองของไทยมาก่อน ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศว่า "ครั้งนั้น พระยา ประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์" และในกฎ มณเฑียรบาล ประมาณว่าเขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวปี พ.ศ.๑๙๐๓ หรือ ๑๙๙๐ ก็ว่า "กษัตริย์ แต่ได้ถวายดอกไม้ทองเงินนั้น เมืองใต้ เมืองอุยงตาหนะ (หรือฮุยงเมทนี ยะโฮร์ และสิงคโปร์) เมืองมะละกา เมืองมลายู เมืองวรวารี (ไทรบุรี) ๔ เมืองถวายดอกไม้ทองเงิน"

พ.ศ.๑๘๖๖ อาณาจักรสุโขทัยหลังจากพ่อขุนรามคำแหงสิ้นพระชนม์ (พ.ศ.๑๘๔๓) แล้ว กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา ไม่สามารถ ดำรงความเป็น ผู้นำ ไว้ได้ พระบรมราชากษัตริย์แห่งรัฐละโว้ อโยธยา ทรงปฏิเสธต่ออำนาจอาณาจักรสุโขทัย ได้เข้ายึดครอง เมืองนครศรีธรรมราช ตลอดไปจนถึงหัวเมืองต่างๆ บนแหลมมลายู ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า "เมื่อท้าวอู่ทอง กับท้าวศรีธรรมโศกราช จะเป็นไมตรีกันนั้น ท้าวอู่ทองขึ้นบนแท่นแล้ว พระยาศรีธรรมโศกจะขึ้นไปมิได้ ท้าวอู่ทอง ก็จูงพระกร ขึ้นมงกุฎ ของพระเจ้าศรีธรรมโศก ตกจากพระเศียร แล้วท้าวศรีธรรมโศกสัญญาว่า เมื่อตัวพระองค์ กับพระอนุชา ของพระองค์ ยังอยู่ ให้เป็นทอง แผ่นเดียวกัน ถ้าท้าวอู่ทองต้องประสงค์สิ่งใดจะจัดแจงให้นานไปเบื้องหน้าให้มาขึ้นกรุงศรีอยุธยา"

ชาวจีนชื่อ หวังต้าหยวน ก็ได้บันทึกไว้ในปี ค.ศ.๑๓๔๙ (พ.ศ.๑๘๙๒) ว่า เสียน (สยาม) โจมตี Tammasik (สิงคโปร์) ซึ่ง "เสียน" ในที่นี่หมายถึง อาณาจักรละโว้-อโยธยา ของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง

ครั้นถึงปี พ.ศ.๑๘๘๕ กษัตริย์ละโว้-อโยธยา ก็ส่งพระพนมวัง-นางสะเดียงทอง ออกมาปกครองเมืองนครศรีธรรมราช พระพนมวัง ได้สร้างเมืองนครดอนพระ (อำเภอกาญจนดิษฐ์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นเป็นศูนย์การปกครองอยู่ชั่วคราว ต่อมาราวปีพุทธศักราช ๑๘๘๗ พระพนมวังแต่งตั้งให้พระฤทธิเทวา (เจสุตตรา) ออกไปครองเมืองปัตตานี หนังสือสยาเราะห์เมืองปัตตานี เรียกชื่อเมืองปัตตานีสมัยนั้นว่า "เมืองโกตามหลิฆัย" ส่วนหนังสือเนเกอรราเกอราคามา เรียกว่า "ลังกาสุกะ" ประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีกล่าวต่อไปว่า พระฤทธิเทวา (พระเปตามไหยกาของพญาอินทิรา) ได้นำชาวเมืองโกตามหลิฆัย ไปช่วยพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างพระนคร ศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๐ - ๑๘๙๓)

พระฤทธิ์เทวา (เจสุตตรา) ครองเมืองโกตามหลิฆัยอยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๙๒๗ ก็สิ้นพระชนม์ รวมเป็นระยะเวลาที่ครองราชย์อยู่ ๔๐ ปี กษัตริย์องค์ต่อไป ไม่ปรากฏนามชัดเจน ประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีระบุเพียงว่าเป็นสมเด็จพระอัยกาของพญาอินทิรา ครองราชย์ อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๒๗ - ๑๙๖๗ เป็นเวลา ๔๐ ปี พระโอรสมีนามว่าพญาตุกูรุปมหาจันทรา ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๖๗ - ๒๐๑๒ รวม ๔๕ ปี พญาอินทิราราชโอรสก็ได้ขึ้นครองนครโกตามหลิฆัยเป็นองค์สุดท้าย ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ - ๒๐๕๗ รวม ๔๕ ปี

ในรัชสมัยของพญาอินทิรา ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ได้แก่ การเข้ารีตรับศาสนาอิสลามของพญาอินทิรา ประวัติศาสตร์ เมืองปัตตานี กล่าวถึงสาเหตุ ที่พญาอินทิรา ต้องเปลี่ยนจากการนับถือพระพุทธศาสนา มานับถือศาสนาอิสลามว่า เนื่องจากพระองค์ ทรงประชวร ด้วยโรคผิวหนัง (น่าจะเป็นโรคเรื้อน) นายแพทย์ซึ่งเป็นมุสลิม ชื่อ เช็คสอิด (หนังสือสยาเราะห์เกอรจาอันมลายูปัตตานี ของ อิบรอฮิม ซุกรี เรียก "เช็กซาฟานุคดีน") (น่าจะเป็นชาวเมืองปาไซในเกาะสุมาตรา) ซึ่งเข้ามาตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ หมู่บ้านปาไซ (บ้านป่าศรี ในท้องที่ อำเภอยะหริ่ง) ได้รับอาสาถวายการพยาบาล โดยมีเงื่อนไขว่า หากพระองค์ได้รับการรักษาจนหายจากโรคแล้ว ขอให้พญาอินทิรา ทรงเปลี่ยนจากการเป็นพุทธมามกะมาเป็นอิสลามิก ซึ่งต่อมา พระองค์ก็ได้รับการพยาบาลจากนายแพทย์เช็คสอิด จนโรคผิวหนังนั้น หายขาดสนิท และทรงปฏิบัติตามสัญญา ที่ให้ไว้แก่นายแพทย์เช็คสอิด ด้วยการเข้ารับศาสนาอิสลาม เป็นพระองค์แรก ของกษัตริย์เมือง โกตามหลิฆัย และทรงเปลี่ยนพระนามพระองค์ตามประเพณีศาสนามีนามว่า สุลต่าน อิสมาเอลชาฮ์ แต่หนังสือ สยาเราะห์ เกอรจาอัน มลายู ปัตตานี ของอิบรอฮิม ซุกรี เรียกว่า สุลต่านมูฮัมหมัดชาฮ์

ดี.จี.อี. ฮอลล์ กล่าวไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม ๑ ว่า "รัฐปัตตานีก็เปลี่ยนศาสนาเพราะมะละกา" สาเหตุเพราะ มะละกา โกรธแค้นไทย ที่เคยไปโจมตีมะละกา สุลต่านมุซัฟฟาร์ชาฮ์ จึงส่งกองทัพมาตีหัวเมืองประเทศราชของไทย คือ ปาหัง ตรังกานู และปัตตานีไว้ได้ระยะหนึ่ง ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๘๘ - ๒๐๐๒ ต่อมา ในสมัยของสุลต่านมันสุร์ชาฮ์ ราชโอรสของสุลต่านมุซัฟฟาร์ชาฮ์ ซึ่งครองราช ต่อจากพระราชบิดา ในปี พ.ศ.๒๐๐๒ - ๒๐๒๐ จึงยอมตกลงเป็นมิตรกับไทย ฉะนั้น หัวเมืองประเทศราชของไทย ซึ่งเคยนับถือ ศาสนาพุทธมาก่อน ได้แก่ ปาหัง ตรังกานู กลันตัน ปัตตานี และไทรบุรี ก็คงจะทำการเปลี่ยนศาสนา ในรัชสมัย ของกษัตริย์ มะละกา องค์ใดองค์หนึ่ง ที่กล่าวมาแล้ว เพราะระยะนั้น อาณาจักรมะละกามีอำนาจทางการเมืองเข้มแข็งมาก และยังทำหน้าที่ เป็นศูนย์กลาง การเผยแพร่ศาสนาอิสลามอีกด้วย อนึ่ง ระยะเวลาที่พญาอินทิรา เจ้าเมืองปัตตานี ผู้เปลี่ยนศาสนา มารับอิสลาม ครองเมืองปัตตานี ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ - ๒๐๕๗ นั้น ใกล้เคียงกับสมัยของสุลต่านมันสุร์ชาฮ์ มาก

คัดลอกมาจาก รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

0 ความคิดเห็น: