ขับเคลื่อนโดย Blogger.

งานประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณกาล โดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการบูชาขอขมาต่อแม่พระคงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ การบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ และการบูชารอยพระพุทธบาท การลอยกระทงจะนิยมทำกันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุก ๆ ปี เป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลำคลองจะขึ้นสูงและมีอากาศเย็น ในตามพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทงสำหรับลอยประทีปเป็นรูปดอกบัวบานขึ้น เป็นแบบที่คนทั่วไปนิยมจัดทำสืบทอดต่อกันมา นอกจากนั้นในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังได้กล่าวถึง งานเผาเทียน เล่นไฟ ของกรุงสุโขทัยไว้ด้วยว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้ผู้รู้ทั้งหลายสันนิษฐานตรงกันว่า งานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน งานประเพณีลอยกระทง เป็นงานประเพณีโบราณที่เก่าแก่ของไทย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เท่าที่ปรากฏ พบว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีและในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์ใช้ในการกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อการบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ในสมัยสุโขทัย นางนพมาศพระสนมของพระร่วงได้คิดทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปต่าง ๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล
พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศมาก จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และปฏิบัติสืบต่อกันมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้ กระทงรูปดอกบัวจึงปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกว่า "ลอยกระทงประทีป" ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงตัดพิธีต่าง ๆ ที่เห็นว่าสิ้นเปลืองออก ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้อีก ปัจจุบันนี้ การลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังคงทำกันอยู่เป็นประจำตลอดมา

0 ความคิดเห็น: