ขับเคลื่อนโดย Blogger.

แสตมป์ไทยมีกำเนิดมาพร้อมกับกิจการไปรษณีย์ไทยเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือนเก้า ปีมะแม เบญจศก จุลศักราช 1245 ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า ทรงสถาปนากิจการไปรษณีย์นับเป็นครั้งแรกในบ้านเมืองเราที่ราษฏร สามารถส่งข่าวสารได้อย่างมีระบบและสะดวกสบาย แสตมป์ชุดแรกของไทยชื่อ "ชุดโสฬศ" ประกอบด้วย 1 โสฬศ 1 อัฐ 1 เสี้ยว ซีกหนึ่ง สลึงหนึ่ง และเฟื้องหนึ่ง จัดพิมพ์ที่บริษัท Waterlow and Son Ltd.ประเทศอังกฤษ จำนวนพิมพ์ชนิดละ 5 แสนดวง เริ่มนำออกมาใช้วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ในวันนั้นเนื่องจากแสตมป์ราคาเฟื้องหนึ่งส่งมาไม่ทัน กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงงดใช้และนำมาจำหน่ายเพื่อการสะสมภายหลัง ซึ่งราคาขายปัจจุบันยังไม่ใช้ครบชุดประมาณ 3,000 - 3,500 บาท

แสตมป์ชุดโสฬสออกแบบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผินพระพักตร์เบื้องซ้ายภายในวงกรอบรูปไข่ ตัวหนังสือและตัวเลขใช้อักษรและเลขไทยล้วน ด้านหลังไม่มีกาวและไม่มีลายน้ำ

ซึ่ง ก่อนจะมีกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทยนั้นการติดต่อสื่อสารของคนไทยในสมัยโบราณ ก็ใช้วิธีการสื่อสารในระบบ "ม้าใช้" หรือ "คนเร็ว" เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกได้นิยมใช้กัน กล่าวคือ ใช้คนเดินข่าวเดินทางนำข่าวไปด้วยเท้า หรือใช้ม้า เรือ แพ เป็นพาหนะ สำหรับกำเนิดของการไปรษณีย์ในประเทศไทยนั้นย่อมกล่าว ได้ว่าได้รับอิทธิพลจากการที่กงสุลอังกฤษได้นำเอาระบบการ ติดต่อสื่อสาร ทางไปรษณีย์มาใช้ติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับ สิงคโปร์ กล่าวคือ ในราวปี พ.ศ. 2410 ปลายรัชสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ประเทศ ไทยได้มีการติดต่อค้าขายและสัมพันธไมตรี กับต่างประเทศมากขึ้น มีสถานกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับชาวต่างประเทศในเรื่องธุรกิจการค้า การศาสนามีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นกว่ากาลก่อน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อส่งข่าวไปมากับต่างประเทศมากขึ้น กงสุลอังกฤษเห็นความจำเป็นดังกล่าวนี้ จึงได้จัดการเปิดรับบรรดาจดหมายเพื่อส่งไปมาติดต่อกับต่างประเทศขึ้น โดยใช้สถานที่ตึกยามท่าน้ำริม ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหลังกงสุลอังกฤษเปิด ทำการ โดยใช้ตราไปรษณียากรของสหพันธรัฐมลายาและอินเดีย ซึ่งพิมพ์อักษร "B" ประทับลงบนดวงตราไปรษณียากรนั้น ๆ แทนคำว่า "Bangkok" จำหน่าย แก่ผู้ต้องการส่งจดหมายไปต่างประเทศ แล้วส่งจดหมายเหล่านั้นไปประทับตราวันที่ที่สิงคโปร์ โดยฝากไปกับเรือค้าขายภายใต้ร่มธงอังกฤษ

ต่อ ประมาณกลางปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ข้าราชการสำนักในต้นรัชกาลที่ 5) ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงพระราชดำริจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย เรื่องการจัดตั้งการไปรษณีย์ตามที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช ได้นำความกราบบังคมทูลคงจะต้องด้วยพระราชดำริของพระองค์ท่านแต่ทรงเห็นว่า เป็นงานใหญ่ ต้องใช้ทุนรอนมาก หากพลาดพลั้งไปจะเสียหายได้ ควรที่จะได้ศึกษาดูประเทศใกล้เคียงเพื่อเป็นประสบการณ์และแนวทางก่อน จึงโปรดฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชเดินทางไปศึกษาดูงานการไปรษณีย์ที่ประเทศจีนและ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีและทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงสนพระทัยและทรงเข้าใจเรื่องการไปรษณีย์ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงออกหนังสือ ข่าวราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็น ผู้นำในการจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช 1243 (ตรงกับวันที่ 2 กรกฏาคม 2424) โดยร่วมมือกับ เจ้าหมื่นเสมอใจราช การดำเนินการเพื่อจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทยได้ดำเนินต่อ มาโดยได้มีชาวต่างประเทศช่วยเหลือดำเนินการด้วยที่สำคัญคือ นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ จนกระทั่งในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2426 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงมีหนังสือลงวันพฤหัสบดีแรม 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม เบญจศก 1245 กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบว่า การเตรียมการต่าง ๆ เกือบจะเรียบร้อยแล้ว เห็นควรที่จะประกาศเปิดการไปรษณีย์ขึ้นในกรุงเทพฯ ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ปีมะแม เบญจศก 1245 เมื่อการตระเตรียมวางระเบียบแบบแผนจนสำเร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะเปิดใช้การได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2426 เป็นปฐม มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือปากคลองโอ่งอ่าง และในวันเดียวกันนี้เอง (ซึ่งตรงกับวันเสาร์เดือนเก้าขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะแม เบญจศก 1245) ก็ได้มีประกาศเปิดการไปรษณีย์ทดลองในกรุงเทพฯโดยกำหนดให้มีบริการไปรษณีย์ ภายในอาณาเขต ดังนี้คือ
ด้านเหนือ ถึง สามเสน
ด้านตะวันออก ถึง สระประทุม
ด้านใต้ ถึง บางคอแหลม
ด้านตะวันตก ถึง ตลาดพลู

และขอพระราช ทานพระบรมราชานุญาตให้มีกฎหมายแผ่นดินสำหรับการไปรษณีย์ขึ้นไว้เป็นหลักฐาน ตามความเห็นชอบของนายอาลาบาสเตอร์ ซึ่งเสนอหลักการไว้และหลังจาก ทรงพระราชวินิจฉัยแล้วให้ใช้บังคับได้ จึงนับว่าเป็นกฎหมาย ไปรษณีย์ฉบับแรกของไทย

การ เปิดบริการไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ปรากฎว่า เมื่อดำเนินการมาได้เดือนเศษ ปรากฎว่ามีผู้ใช้บริการมาก ได้ยังความชื่นชม สมพระราชหฤทัยมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัส ซึ่งทรงพระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ข้าทูลละออง ธุลีพระบาท ราชทูตอเมริกันและท่านเอเย่นต์กอมิสแซและกงสุลต่างประเทศ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา เมื่อวัน ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2426 มีความตอนหนึ่งว่า

" การไปรษณีย์ซึ่งได้เปิดใช้โดยส่งหนังสือในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เสมอนั้น ก็เป็นที่แปลกใจของเราที่ไม่คิดว่าคนไทยจะใช้หนังสือกันถึงเพียงนี้ ทำให้เรามีความประสงค์ที่จะจัดการให้ได้ส่งหนังสือไปมาให้ได้ตลอดพระราช อาณาจักรสยามได้โดยเร็ว จะเป็นประโยชน์ในการค้าขายแลทางราชการมาก แล้วภายหลังเราหวังใจว่าคงจะทำตามคำเชิญของท่านผู้จัดการไปรษณีย์ใหญ่ในกรุง เยอรมนี ให้กรุงสยามเข้าจัดการส่งหนังสือไปมาได้ทั่วโลก คือเข้าในหมู่พวกการไปรษณีย์อันรวมกัน "

ต่อ มาสยามประเทศก็เข้าเป็นสมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากลในปี 2428 ทำให้แสตมป์ที่พิมพ์ออกมาหลังจากที่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ต้อง พิมพ์ชื่อประเทศลงบนดวงแสตมป์ด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร

บริษัทไปรษณีย์ไทย

คู่มือการสะสมแสตมป์ กองตราไปรษณียากร การสื่อสารแห่งประเทศไทย 2545

ประวัติกรมไปรษณีย์ระยะเริ่มแรก,กรมไปรษณียโทรเลข http://203.121.175.10/history_post/

0 ความคิดเห็น: